โรคฟันผุในผู้สูงอายุ....เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ปัญหาสุขภาพฟันของผู้สูงอายุ “ฟันผุ” เป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในระดับต้นๆที่พบได้บ่อยๆ เนื่องจากการดูแลรักษาช่องปากไม่ดีพอ และปล่อยปัญหาสุขภาพฟันไว้เนิ่นนาน รวมกับอายุที่มากขึ้น สังเกตได้จากตัวฟัน หรือเคลือบฟันเริ่มจะหายไป ความแข็งแรงของฟันก็น้อยลงด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสูญเสียฟัน ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ฟันผุเกิดจากอะไร
เกิดจากการสร้างกรดของแบคทีเรียเพื่อมาย่อยเศษอาหารที่ตกค้าง หลังจากที่เราทานอาหารเข้าไป กรดนี้สามารถทำลายผิวเคลือบฟัน นานวันเข้าเนื้อฟันก็ถูกทำลายจนเป็นรู หรือเป็นโพรงที่ตัวฟัน จะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ก่อให้เกิดฟันผุ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟันผุ
- ฟันและสภาพช่องปากของเรา
- เชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งอยู่ในช่องปากของเราทุกคนเป็นปกติ)
- อาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะประเภทแป้งและน้ำตาล
- เวลาและความถี่ในการบริโภค เช่น การทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร
ถ้าฟันผุแล้วไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น
- ถ้าฟันผุมากๆ ก็จะมีอาการเสียวฟันเวลาทานอาหารเย็นๆ น้ำเย็น หรือ ปวดฟัน ปวดฟันถี่ๆจนบางครั้งนอนไม่หลับ
- เสียบุคลิกภาพ เช่น เรื่องการมีกลิ่นปาก มีปัญหาการเข้าสังคมได้
- มีปัญหาเรื่องความสวยงาม เวลายิ้มไม่กล้ายิ้ม เพราะฟันผุ
- หากมีฟันผุลึกมากจนทะลุชั้นเนื้อเยื่อในฟันก็จะเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ ทำให้มีอาการปวดร่วมกับมีการบวมอาจมีตุ่มหนอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาทีมีความร้ายแรงอื่นๆ ต่อได้ เช่น ฟันโยกจนต้องถอนฟันหรือเกิดการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกายได้
การป้องกันโรคฟันผุ
สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ดังนี้
- การแปรงฟันอย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง หรือถ้าทำได้ไม่สะดวก ใช้วิธีบ้วนน้ำแรงๆ หลายๆ ครั้ง แต่ไม่ดีเท่าการแปรงฟัน
- การรับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อฟัน หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่ส่งเสริมให้ฟันผุ
- การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันและแก้ไขหากเกิดปัญหาฟันในระยะเริ่มจะง่ายต่อการรักษา
- การใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ และทำให้ฟันแข็งแรง เช่น การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ การอมน้ำยาฟลูออไรด์ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ทานอาหารจุบจิบระหว่างมื้อ เพื่อลดน้ำลายและแบคทีเรียในช่องปาก สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุได้
ข้อมูลอ้างอิงประกอบ : งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอบคุณภาพ : pexels.com